เนื่องจากกัญชาเป็นสารเสพติด ผู้เสพนอกจากจะได้รับสารเสพติดแล้วยังมีโอกาสรับสารเคมีอื่นๆ ด้วย ขึ้นอยู่กับวิธีการเสพ เช่น หากใช้วิธีการสูบ ผู้เสพจะได้รับสารเคมี เช่น น้ำมันดิน และสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการใช้กัญชาชนิดสูบเข้าสู่กระแสเลือด และหมุนเวียนไปตามอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะสมอง
นั่นทำให้เกิดผลกระทบตามมามากมายทั้งระยะสั้นคือ ความทรงจำ มีผลต่ออารมณ์ การคิด และผลระยะยาว ดังนี้
หากเสพในปริมาณน้อยอาจทำให้คลายกังวลใจ พูดมากขึ้น และอารมณ์ดีขึ้น แต่หากเสพในปริมาณมากเกินไป จะทำให้มีอาการประสาทหลอน หลงผิด จิตเสื่อม กระวนกระวาย ฝันเฟื่อง และสุดท้ายอาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้
หลังจากเสพกัญชา ในระยะสั้นจะมีผลข้างเคียงทำให้สมองสูญเสียความทรงจำ สับสน และวิตกกังวล
หากใช้กัญชาเป็นสารเสพติดอย่างต่อเนื่อง ผลในระยะยาวจะทำให้สติปัญญาลดลง สมาธิสั้น และหากมีประวัติเป็นผู้ป่วยจิตเภท ก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงกว่าคนทั่วไป
ผู้ชายที่เสพกัญชาจะรู้สึกอยากอยู่เฉยๆ ไม่มีแรงจูงใจในการทำกิจวัตรประจำวัน รวมถึงกิจกรรมทางเพศด้วย
เนื่องจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ของเพศชายผลิตได้น้อยลง จึงส่งผลให้อสุจิน้อยลงตามไปด้วย ทำให้หย่อนสมรรถภาพทางเพศ ส่วนในเพศหญิงพบว่า มีผลต่อความผิดปกติของรอบเดือน ทำให้การตกไข่ลดลง
กัญชาทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง และสามารถติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย คล้ายกับผู้ป่วยโรคเอดส์ที่มีเชื้อ HIV
หากผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์เสพกัญชา จะทำให้ทารกที่คลอดออกมามีความผิดปกติของเซลล์ประสาทภายในสมอง เช่น มีความผิดปกติด้านการพูด ความจำ กระบวนการคิดช้าลง รวมถึงส่งผลต่อฮอร์โมนเพศและพันธุกรรมด้วย
เนื่องจากกัญชามีฤทธิ์ทำลายโครโมโซมของทารก
ผู้ที่ใช้กัญชาเป็นสารเสพติดมักมีพฤติกรรมยัดไส้กัญชาใส่มวนบุหรี่ และสูดควันไว้ในปอดนานกว่าการสูบบุหรี่ นั่นทำให้ผลข้างเคียงรุนแรงมากขึ้น
โดยการสูบบุหรี่ยัดไส้กัญชา 4 มวนเท่ากับการสูบบุหรี่ธรรมดาถึง 20 มวน จึงเพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งปอดได้มากกว่า 5 เท่า นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อหลอดลม เนื่องจากมีสารไปเกาะติดตามทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง และมีเสมหะมากอีกด้วย
กัญชาเป็นพืชที่ให้ทั้งประโยชน์และโทษ หากใช้ในทางการแพทย์จะช่วยรักษาโรคได้หลายชนิด แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่นำกัญชามาใช้เป็นสารเสพติดเพื่อคลายเครียด
ทั้งนี้การใช้กัญชาในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อร่างกายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบทางเดินหายใจ ความคิด อารมณ์ หรือความผิดปกติทางจิต จึงควรหลีกเลี่ยงการเสพกัญชา